Waldeinsamkeit ความรู้สึกสันโดษเดียวดายเมื่อเราอยู่กลางป่า
16 พ.ค. 2023
ผู้เขียนสังเกตว่าตัวเองชอบไล่เปิดดูรูปจากทริปเดินป่าในอดีตอยู่บ่อยครั้งเพื่อคลายเครียด ระหว่างดูก็คิดถึงประสบการณ์ของการอยู่ในพื้นที่กว้าง มีเสียงนกดังมาจากยอดไม้ เสียงน้ำในลำธาร สัมผัสได้ถึงแสงลอดใบไม้ และความชื้นในอากาศ คิดถึงการเดินไปบนพื้นดินขรุขระแล้วได้กลิ่นใบไม้แห้ง หรือการสำรวจสิ่งมีชีวิตตามรายทาง เช่น แมลงหรือทาก รวมถึงการเดินผ่านต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นมายาวนานหลายสิบหรือร้อยปี
ด้วยคิดถึงความรู้สึกยามได้เดินป่า ผู้เขียนจึงสงสัยว่าความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาตินี้มีคำเฉพาะอยู่บ้างไหม? เลยมาพบคำว่า Waldeinsamkeit ในภาษาเยอรมันที่ชวนให้เราคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเราและป่าเขา
Waldeinsamkeit ประกอบขึ้นจากคำว่า wald แปลว่า ‘ป่า’ + einsamkeit แปลว่า ‘ความเดียวดาย / สันโดษ’ เมื่อรวมกันจึงแปลว่า ‘forest solitude / forest loneliness’ หรือ ‘ความรู้สึกสันโดษเดียวดายเมื่ออยู่ในป่าหรืออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ’
แม้จะฟังดูเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย แต่ความสันโดษในป่ากลับมีความหมายในเชิงสงบ ผ่อนคลาย สดชื่น รู้สึกเชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของโลกและธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
คำคำนี้ไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด เพราะ waldeinsamkeit เป็นคำศัพท์ภาษาเยอรมันที่มีมานาน
ประเด็นคือ ความรักในการผจญภัยได้ฝังรากในวิถีชีวิตและความคิดแบบคนยุโรปและถูกสะท้อนออกมาผ่านคำเหล่านี้ ซึ่งนอกจาก waldeinsamkeit ในภาษาเยอรมันแล้ว ยังมีคำในภาษาต่างๆ ทั่วโลกที่สะท้อนความสัมพันธ์ของคนกับป่าได้อย่างน่าสนใจ เช่น
– Wanderlust แปลว่า ความใคร่อยากออกเดินทาง เป็นคำที่มีรากมาจากภาษาเยอรมัน และไปโผล่ในภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 1902 กระทั่งกลายเป็นคำที่แพร่หลายจนหลายคนคุ้นหูกันในปัจจุบัน
– Fernweh แปลตรงตัวว่า ‘distance sickening’ คือความรู้สึกป่วยใจ กระหายที่จะไปให้ไกลจากบ้านของตัวเอง หรือความรู้สึกของการ ‘พาฉันไปไหนก็ได้ที่ไม่ใช่บ้าน’ ซึ่งคำนี้เป็นคำตรงข้ามกับคำว่า ‘heimweh’ ซึ่งแปลว่าอาการป่วยใจอยากกลับบ้าน หรือ ‘homesickness’ โดย Vladimir Nabokov ผู้เขียนหนังสือ Lolita ได้อธิบายถึงคำนี้ว่าคือ ‘คู่ตรงข้ามกับ nostalgia หรือการโหยหาอดีตที่คุ้นเคย แต่เป็นการถวิลหาดินแดนอันแปลกประหลาด
– Waldbaden คือการอาบป่า เป็นกิจกรรมที่พาร่างกายไปซึมซับธรรมชาติเพื่อสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งมีคำที่มีความหมายคล้ายกันอยู่ในภาษาญี่ปุ่นด้วยคือ shinrin-yoku (森林浴) ความน่าสนใจคือในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ยุค 80s เกิดกิจกรรม ‘การอาบป่า’ และบริการ ‘ป่าบำบัด’ กันอย่างจริงจัง
หลักฐานที่ทำให้เรารู้ว่ามนุษย์กับป่ามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมาเนิ่นนานคือคำนี้ถูกหยิบไปใช้เป็นชื่อบทกวีหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือบทกวีชื่นชมความงามของธรรมชาติของ Ralph Waldo Emerson (1803-1882) นักคิดนักเขียนชาวอเมริกันผู้นำการเคลื่อนไหวแนวคิดแบบ transcendentalism หรืออุตรวิสัย ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถค้นพบสัจธรรมของชีวิตได้เอง ซึ่งหากพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แนวคิดนี้มักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงบ่อยครั้ง
ความหลงใหลต่อธรรมชาติคือความเป็นมนุษย์
ต่อให้ไม่ต้องมีสิ่งใดมารับรอง เราล้วนรู้สึกได้ว่าเรานั้นหลงใหลและถูกดึงดูดจากสิ่งมีชีวิตและพรรณพืช ความรู้สึกนี้ส่งผลให้เกิดสมมติฐานชื่อ Biophilia Hypothesis โดย Edward O. Wilson นักธรรมชาติวิทยาผู้เชื่อว่ามนุษย์นั้นมีแรงขับเคลื่อนในการเชื่อมต่อและรักใคร่ในธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต โดยจะเห็นได้ว่าเมื่อเราย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ของผู้มีอันจะกินในสังคมอียิปต์โบราณ สังคมเปอร์เซีย หรือสังคมจีนในยุคกลาง ทุกสังคมล้วนมีหลักฐานของการสร้างสวนที่ยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นความพยายามอย่างแรงกล้าของมนุษย์ที่จะเชื่อมต่อกับธรรมชาติแม้จะพัฒนาระบบเมืองและอุตสาหกรรมไปไกลมากแค่ไหนก็ตาม
David Strayer นักจิตวิทยาปัญญา (Cognitive Psychologist) จากรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ก็ได้ยืนยันว่าธรรมชาตินั้นช่วยเยียวยาเรา จากการศึกษาผลกระทบที่ธรรมชาติส่งผลต่อสมองอันตึงเครียดของมนุษย์ โดยเขาได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่เดินทางท่องเที่ยวแบ็กแพ็กในป่า 3 วัน และพบว่านักเดินทางเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น เขาจึงสรุปเคล็ดลับ 3-day effect หรือระยะเวลา 3 วันที่คนได้สัมผัสธรรมชาติว่าการเดินป่าช่วยรีเซตสมองที่เคร่งเครียด ฟื้นฟูประสาทสัมผัสให้ชัดเจนจนเราสามารถได้กลิ่นและได้ยินในสิ่งที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดละเอียดว่าแท้จริงแล้วธรรมชาติส่งผลในการลดความเครียดและสมองของมนุษย์ยังไง
หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่แสนยาวนาน มนุษย์ใช้ชีวิตอาศัยอยู่โดยพึ่งพิงใกล้ชิดธรรมชาติมานานแสนนานก่อนเราจะพัฒนามาสู่สังคมเมือง เข้าสู่ยุคสมัยนี้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงวัฏจักรธรรมชาติของโลกอย่างรุนแรง การได้ไปสัมผัสธรรมชาติทำให้เราได้มีโอกาสกลับไปเชื่อมโยงตัวเองกับระบบนิเวศ เห็นความสำคัญของธรรมชาติ และมองเราเป็นส่วนหนึ่งของชีวภาค (biosphere) ที่ทำให้เรารู้สึกเล็กจ้อย
เมื่อเราได้ออกไปท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ไปปีนเขา ไปเดินป่า สำหรับบางคนอาจเป็นเพียงวันหยุดที่แสนสดชื่น เป็นโอกาสได้ฝึกทักษะการเอาตัวรอดต่างๆ เช่น การดูแผนที่ การดูเส้นทางน้ำ-ป่า การดูผักและพืชที่กินได้ตามทาง การศึกษาวงจรชีวิตสัตว์ ฯลฯ เราอาจซึมซับ สังเกต และสัมผัสป่าไม้เป็นเพียงสถานที่ผจญภัยเพื่อความบันเทิง หรือเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติอันงดงามเป็นเพียงพื้นหลังภาพโปรไฟล์อันถัดไป แต่นั่นก็เป็นเพียงมุมมองความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อป่าเพียงแบบหนึ่งเท่านั้น
สิ่งที่หลายคนอาจเผลอมองข้ามไปคือ ในปัจจุบันยังมีกลุ่มคนอีกมากในโลกที่ยังดำรงชีพโดยอาศัยผืนป่าเพื่อทำกิน สำหรับพวกเขา ป่ามิใช่เพียงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจชั่วคราว มิใช่สถานที่สันโดษเงียบเหงา แต่คือชุมชน แหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยที่ส่งต่อวิถีชีวิตสืบต่อมานาน พวกเขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน และชีวิตพวกเขานั้นเปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เปราะบางต่อภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเปราะบางต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดนกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกป่าทั้งที่มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในป่าในปริมาณน้อยนิดอย่างมีสติและคุ้มค่ากว่าเราหลายเท่า
นอกจากการท่องเที่ยวธรรมชาติเพื่อความผ่อนคลาย การได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่อยู่กินกับป่าก็ทำให้เรา เหล่าคนเมืองได้ขยับกรอบความคิดของตัวเอง แอบมองออกไปนอกชีวิตปกติประจำวัน ออกจากกรอบที่คิดว่าประเทศไทยคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล และทำให้เราคิดใคร่ครวญมากขึ้นเมื่อต้องบริโภคสินค้าบางสิ่งบางอย่าง เพราะตัวเลือกต่างๆในชีวิตของเราล้วนส่งผลกระทบต่อโลกและธรรมชาติไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อาจพูดได้ว่าการเดินทางเข้าไปในป่าทำให้เราได้สำรวจพริวิเลจของตัวเองในแบบที่ไม่เคยตระหนักมาก่อน
บทความน่าสนใจอื่น ๆ
แคปชั่นแคมป์ปิ้งหน้าฝน: โดนใจสายแคมป์ แม้ฟ้าจะครึ้ม จากใจ Camp One NR
06 ส.ค. 2024
Shelter G VS Shelter GH
11 ก.ค. 2023
Minimal Works “Jack Shelter” เสน่ห์ที่ชาวแคมป์มีสไตล์ทุกคนใช้!
28 มี.ค. 2024
Campone NR Thailand Brand Camping Market #1
13 พ.ค. 2024
Black Design : สัมผัสการออกแบบที่น่าหลงใหลด้วย “ศิลปะ ชีวิต และธรรมชาติ” แบรนด์เก้าอี้แคมป์ปิ้ง CampOne NR
07 เม.ย. 2023